ตีสี่แล้ว ตื่น ตื่น ตื่น
- iPhone บอกเวลาตีสี่
- Garmin Fenix 3 บอกเวลาตีสี่
- นาฬิกาโรงแรม บอกเวลาตีห้า และ
- Google Search “New York Local Time” แสดงเวลาตีสี่
โอเค ตรงกัน
ได้เวลาตื่น เข้าห้องน้ำ ทานอาหาร จัดระเบียบตัวเองให้เรียบร้อย กำหนดการที่ต้องไปให้ทันมี ๒ จุดคือ
- ๖:๔๕ นาที เวลาขึ้นเรือ เพื่อไปที่จุด Start
- ๑๐:๑๕ น. เวลาปล่อยตัวของผม
ทั้งๆที่รู้และวางแผนไว้ล่วงหน้า มองย้อนกลับไป ผมก็ยังพลาด ผมลืมเรื่องนี้ไปสนิท ตั้งแต่ตื่นนอน จนถึงเวลาปล่อยตัว มันเป็นเวลากว่า ๖ ชั่วโมง ไม่ว่าเราจะทานอาหารเช้าแล้วตั้งแต่อยู่โรงแรม แต่กว่าเราจะวิ่งจริงๆ มันเป็นเวลาที่ค่อนข้างนานนะครับ ผมควรเตรียมอาหารว่างส่วนหนึ่งไปทานก่อนจะวิ่งจริง ผมมานึกถึงเรื่องนี้ได้ตอนไปถึงท่าเรือ พอเห็นชาวบ้านเขาเตรียมอาหารมากัน ก็นึกได้ว่าเราลืมไปเลย มัวแต่จัดระเบียบเครื่องแต่งกายว่า เราจะเอาอะไรไปบ้าง และเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนออกจากโรงแรม จาก Blog ของคุณ Runar B. Gunderson และ Blog ของ Elizabeth Maiuolo (ที่เล่าให้ฟังแล้วในตอนก่อนหน้านี้) ทั้งคู่ก็เตือนเรื่องเข้าห้องน้ำว่า มีคิวนาน ใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง ผมพยายามขับถ่ายให้เสร็จเรียบร้อยก่อนออกจากโรงแรม เพราะเลือกใส่กางเกงขายาวแบบ Fitted (ไม่ถึงขนาด compression) ถ้าต้องไปถอดในห้องน้ำสาธารณะ น่าจะลำบากพอดู ศึกษาเส้นทางแล้วว่า ผมสามารถขึ้นรถไฟสายเดียว ไปถึงท่าเรือเลย ว่าแล้วก็ไปได้แล้วล่ะ
บรรยากาศตีห้าครึ่ง กลาง Manhattan เช้านั้น เย็นดี แต่ไม่หนาวมากนัก เลือกใช้เสื้อวิ่งแขนยาวของทางงาน เพราะวิ่งตั้งแต่ ๑๐:๑๕ น. และคาดว่าจะวิ่งจบไม่น่าเกิน ๕ ชั่วโมง ซึ่งนั่นก็ประมาณ ๑๕:๑๕ น. แม้ว่าพยากรณ์อากาศจะบอกว่า เมฆมาก (cloudy) แต่ก็คลุมแขนไว้น่าจะดี แล้วก็คลุมตัวอีกทีด้วย Asics Trail Running Jacket ซึ่งซื้อไว้ตั้งแต่งาน Tokyo Marathon พกพาง่าย พับแล้ว เหลือขนาดเท่ากำปั้นเด็ก เท่านี่ ก็พออุ่นแล้ว ไม่หนาวมากนัก
เดินไปจนถึงจุดที่คิดว่าน่าจะเป็นสถานีรถไฟ แต่ทำไม่เรามองไม่เห็นหว่า ถามตำรวจที่เดินมาแถวนั้น แกก็บอกไม่ได้ ผมมาเดาทีหลังว่า แกเป็น NYPD ที่ถูกเรียกมาประจำการพิเศษจากที่อื่น เพราะวันนั้น กำลังตำรวจที่เห็น ต้องบอกว่า เยอะมากๆ ลองดูอีกที ผมอดหัวเราะไม่ได้ สถานีรถไฟนี้ อยู่ใต้ดิน โดยที่ทางลง ก็อยู่ข้างๆจุดที่ผมถามคุณตำรวจเมื่อกี๊นั่นแหละ มันเป็นบันไดลงไปใต้ดิน ไม่ได้เป็นสถานีอยู่ข้างบน
ที่สถานีรถไฟ มีคนรออยู่พอสมควร ดูท่าแล้วเป็นนักวิ่งทั้งนั้น แต่รู้สึกไม่เหมือนคนอื่นอยู่สองเรื่อง หนึ่งนั้นคือ เราพอกตัวเองบางกว่าคนอื่นพอสมควร สอง เราไม่ได้เตรียมอาหารมาเลย จากจุดนี้ ไม่ยากแล้วครับ คนไปงานเดียวกันเกินครึ่ง ขึ้นรถไฟตามๆกันไปได้เลย แต่ละสถานี ก็มีนักวิ่งเป็นส่วนใหญ่ที่ขึ้นมา จำนวนคนเยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้แน่นมากนัก ทุกคนมีจุดหมายเดียวกัน คือ ลงที่สถานี Whitehall
ภาพที่เห็นข้างบน คือ ภาพที่ผมเห็นตอนที่เดินขึ้นมาจากสถานีรถไฟใต้ดิน บรรยากาศคึกคักมาก ทุกคนดูตื่นเต้นและเตรียมพร้อมมาก พอมาถึงที่นี่ ผมพอจะเห็นแล้ว มีร้านอาหารให้พอเลือกซื้อได้พอสมควร อย่างนั้น ก็ไม่ยากแล้ว ตอนที่กรอกใบเลือกรอบท่าเรือ ผมจำได้ว่า มีให้เลือกประมาณ ๕ ถึง ๖ รอบ แต่ละรอบห่างกันไม่เกิน ๑๕ นาที รอบที่ผมเลือกคือ ๖:๔๕ น. ซึ่งผมทำเวลาได้พอดี มายืนรออีกสัก ๑๕ นาที ก็เรียกให้ขึ้นเรือแล้ว เจ้าหน้าที่ของท่าเรือมาตรวจสอบกระเป๋าสัมภาระแต่ละคนว่า มีอะไรบ้าง และมี BIB หรือเปล่า ผมไปแบบมือเปล่า ไม่มีอะไรไปเลย ใส่เงิน-Gel-Mylar Blanket-Sunblock ไว้ในกระเป๋าเอว ส่วนมือถือใส่อาร์มแบนด์ไว้ที่แขนซ้าย เจ้าหน้าเรียกไปเข้าไปข้างในสถานีเลย ไม่ต้องต่อคิวตรวจสัมภาระ เรามี BIB เป็นตั๋วรถไฟอยู่แล้ว (ไม่ต้องจ่ายเงิน) มันเป็นอย่างที่คุณ Elizabeth บอกไว้ใน Blog ของเธอ เราสามารถขึ้นเรือเที่ยวไหนก็ได้ ไม่มีคนมาตรวจให้ให้ขึ้นตรงรอบ แต่ก็ควรไปรอบตัวเอง เพราะเจ้าหน้าที่น่าจะจัดทั้งคนและรอบเรือไว้เหมาะสมแล้ว
พอถึงเวลาก็ขึ้นเรือไป ใช้เวลา ๒๐ นาที ไม่นานเลย แถมได้ดูวิวนิวยอร์คจากเรือ ผ่านเทพีแห่งเสรีภาพ สวยดี ไม่นาน หลายๆคนเดินไปถ่ายรูปรอบๆเรือ ผมก็เอาบ้างเหมือนกันเรือจอดที่ท่าในส่วนของนิวยอร์คที่เรียกว่า Staten Island จากจุดนั้น เราต้องนั่งรถบัสไปที่จุดปล่อยตัวที่ปลายสะพาน รถบัสออกเรื่อยๆนะครับ ผมเข้าใจว่า คนเต็มคันเมื่อไร ก็ออก ทุกคนได้นั่งกันหมด สะดวกมาก เราสามารถเลือกเข้าห้องน้ำที่ท่าเรือ ทานอาหาร หรือนั่งรอที่นี่ก่อนก็ได้ คุณ Elizabeth ก็แนะนำให้นั่งรอที่นี่จนกว่า ๑ ชั่วโมงก่อนเวลาปล่อยตัวของเรา ถึงค่อยออก เพราะที่นี่จะเป็นจุดที่เราจะได้อยู่ในอาคารเป็นจุดสุดท้ายแล้ว พอไปถึงที่จุดปล่อยตัว จะเป็นที่โล่ง ซึ่งอากาศอาจจะหนาว หรือมีลมแรง เกินไป เธอบอกว่า หลายๆคนรีบไปจุดปล่อยตัว เพื่อที่จะพบว่า ต้องไปรอกลางแจ้งนาน 2-3 ชั่วโมง ทำให้ร่างกายเย็นเกินไปโดยใช่เหตุ มองย้อนกลับไป เห็นด้วยเต็มๆ แต่ต้องเผื่อเวลารถบัสสักชั่วโมง เผื่อรถติด ที่จุดนี้ ก็มีห้องนำ้ชั่วคราวเรียงกันยาว เพื่อให้นักวิ่งโดยเฉพาะ เรียกว่า ผู้จัดเตรียมมาดีจริงๆ
ก่อนจะออกจากท่าเรือ เพื่อไปขึ้นรถบัส ก็มีเจ้าหน้าที่ตรวจถุงที่เรานำมา เพื่อความปลอดภัย ผมไม่ได้นำถุงอะไรมา เลยผ่านไปเลย ผมเข้าใจว่า ต้องใช้ถุงที่ทางงานเตรียมมาให้เท่านั้น ไม่อย่างนั้น ไม่ให้ผ่านจุดนี้ จากนั้นก็เข้าคิดเดินขึ้นรถบัสกันครับ
เมื่อสิ้นสุดระยะรถบัส ก็ต้องผ่านด่านตรวจตัวครับ
แล้วก็เดินไปสถานีปล่อยตัวครับ เมื่อไปถึงที่สถานีปล่อยตัว เราก็ไปจุดปล่อยตัวที่ระบุใน BIB ของเรา ผู้จัดทำป้ายบอกไว้ชัดเจน มีเจ้าหน้าที่คอยบอกอยู่ทุกจุด ไม่ยาก ไม่สับสนเลย
พอถึงจุดนี้ ก็ตามสบายแล้วครับ เดินเล่น เข้าห้องน้ำ ถ่ายรูป ตามสบายเลย
ผมไปรอยืนหน้าจุดปล่อยตัวของผม มีจอโปรเจคเตอร์ให้ดูการถ่ายทอดสดของงาน มีช่างภาพของงานที่มาถ่ายรูปเรา เราสามารถเลือกซื้อภาพทีละภาพ หรือจ่ายเป็นแพ็คเกจก็ได้ครับ แนะนำให้ถ่ายรูปกับตากล้องเหล่านี้ไว้ครับ จะซื้อหรือไม่ซื้อ ค่อยมาเลือกทีหลัง ก็ได้ เพื่อความชัวร์ ผมก็ขอให้นักวิ่งแถวนั้นช่วยถ่ายรูปในมือถือตัวเองไว้สักรูป เพื่ออวดใน Facebook หน่อยเถอะ มันอดไม่ได้น่ะ
เนื่องจากทำตามคำแนะนำของ Blogger ทั้งสองท่าน(อยู่ใน Entry ก่อนหน้านี้) ทำให้ผมกะเวลาไม่ค่อยพลาดเท่าไร นั่งรอไม่นาน ผู้จัดก็ประกาศเรียกนักวิ่งในรอบวิ่งของผมให้เข้าที่ จากนั้น เราก็ค่อยๆเข้าไปในคิว เดินเข้าประตูตามที่ผู้จัดกำหนด เข้าใจว่า ผู้จัดมีประสบการณ์การจัดที่ดีและปรับปรุงกระบวนการจัดการอย่างต่อเนื่อง ผมไม่ได้รู้สึกว่า แออัด หรือ อึดอัดในคิวเลย คิดเดินไหลไปเรื่อยๆ ห้องนำ้มีให้ใช้ หลังประตูเข้าคิวแล้ว ดังนั้น เรายังมีเวลาเตรียมตัวเข้าห้องน้ำได้อีก
ระหว่างนั้น หลายๆคนเริ่มถอดชุดแต่ละชิ้นออกแล้ว มีเสียงเฮเป็นระยะๆ จากนั้น เมื่อถึงเวลาปล่อยตัว (ตรงเวลา ตามรอบที่กำหนดให้ เป๊ะๆเลย) เราก็ออกวิ่ง โดยมีเพลง New York New York ที่ขับร้องโดย Frank Sinatra เปิดตอนปล่อยตัว บรรยากาศขลังดี เปิดตัวโดยการเริ่มวิ่งออกจาก Staten Island ข้ามสะพานแขวนยาว Verrazano-Narrows Bridge (ที่มักนิยมถ่ายรูปจากด้านบน ช่วงปล่อยตัว มีนักวิ่งเต็มสะพาน เป็นภาพโปรโมท New York City Marathon นี่แหละครับ) ดูเป็นการทดสอบนักวิ่งพอสมควรที่เปิดตัวด้วยสะพานแขวนยาวเลย ตลอดทาง ผมเห็นหมวกที่ขายเป็นของที่ระลึก ตกหล่น เต็มไปหมด ถ้าไม่อยากซื้อ มาเก็บไปก็คงได้นะเนี่ย มันเยอะจริงๆ ไม่นับรวมไปถึงขวดน้ำ ถุงมือ และ accessories อื่นๆที่หลายๆคนทำหล่นโดยไม่รู้ตัว ผมออกตัวค่อนข้างช้า เพราะรู้ตัวว่า ซ้อมมาน้อย น่าจะใช้เวลานาน แต่ก็คิดว่า จะจบได้ไม่เกิน ๕ ชั่วโมง แต่ก็ไม่น้อยกว่า ๔ ชั่วโมงครึ่ง
เส้นทางการวิ่งของ New York City Marathon จะผ่านทั้ง ๕ boroughs (ผมคิดว่าแปลเป็น “เขต”น่าจะใกล้เคียงของไทยมากที่สุด) โดยเริ่มวิ่งจาก Staten Island ไป Brooklyn ไป Queen ไป Manhattan ไป Bronx และกลับมาที่ Manhattan อีกครั้ง เพื่อจบที่ Central Park โดยแต่ละ Borough คั่นด้วยสะพาน ทำให้เราต้องวิ่งทั้งสิ้น ๕ สะพาน (งานนี้ เจ้าสามสะพานสุดท้ายที่ Tokyo Marathon ดูเบาไปเลย เพราะสะพานงานนี้ มันใหญ่กว่าจริงๆ) ช่วงแรกของการวิ่ง คนเชียร์ยังน้อย มีคนออกมาดูกันบ้างประปรายช่วงที่เป็นรอยต่อจาก Staten Island ไป Brooklyn แต่ก็ยังมีคนตะโกนว่า Welcome to Brooklyn ทำให้ผมจำได้นานเลยว่า Brooklyn อยู่ไหน
ความไม่เคยชินของนักวิ่งไทยในงานนี้ ที่รู้สึกได้เลย ป้ายบอกทาง เป็นไมล์ ซ้อมมาแบบดื่มน้ำทุก 2.5 กม. ทำเอาผมงงเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงแรกที่ปล่อยตัว ผมอยู่ในกลุ่มสะพานล่าง ทำให้ GPS วัดระยะตอนแรก แบบแปลกๆ เพราะไม่เจอท้องฟ้า แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไร เจ้าหน้าที่ประจำการทุกจุด ปิดถนนแบบเต็มพื้นที่ ไม่มีรถยนต์มาให้เห็นเลย ตำรวจ NYPD ยืนหน้าเข้าหานักวิ่ง และดูใส่ใจในเหตุการณ์ดี ผมเห็นคนเดินข้ามถนนบ้าง ประปราย ไม่ได้เข้มงวดเท่า Tokyo Marathon (อันนั้น ถ้าไม่ใช่นักวิ่ง ห้ามลงบนถนนเลย) ผมได้ยินตำรวจเรียกคนข้างหลังผม “What are you doing?” แบบหน้าตาขึงขัง พอหันไปดู อ้าว ไอ้หนุ่มเอเชียจากไหน ขี่จักรยานทะเล่อทะล่า กลางถนนมาเนี่ย ผมวิ่งต่อไป คาดว่า หมอนั่นคงโดนเรียกให้ไปที่อื่น
ถ้าจะมีอะไรที่งานวิ่งแบบนี้ เรียกรอยยิ้มได้ดี นอกจากเสียงเชียร์แล้ว คงเป็นป้ายเชียร์แบบแปลกๆ เรียกรอยยิ่ม ผมจำได้ดีในตอนท้ายๆ ก่อนจบ มีคุณป้าท่านหนึ่งชูป้ายว่า “Yes, this is the last god damn bridge!” เล่นเอานักวิ่งอมยิ้มไปตามๆกัน เพราะจะว่าไป เจ้า ๕ สะพานนี้ ก็ทำเอาเราหมดกำลังใจเหมือนกัน นอกจากป้ายแล้ว ที่ค่อนข้างแปลกใจ คือ เจอคนวิ่งเท้าเปล่า เท่าที่ผมเห็น ท่านเดียวเอง หรือกระแสการวิ่ง Bare Foot หายไปแล้ว(???) ที่แปลกใจมากที่สุด คือ วิ่งๆอยู่ เจอนักวิ่งสาวลาติน นุ่งกางเกงขาสั้นมากๆวิ่ง พอวิ่งไปเรื่อยๆ ทันเธอขึ้นมา
อ้าว นั่นกางเกงในนี่หว่า ไม่ผิดแน่ๆ มันไม่ใช่ compression shorts มันคือ underwear
ว่าแล้วก็วิ่งหนีเธอไป ไม่อย่างนั้น ตาเราจะไม่ยอมมองอย่างอื่นเลย แต่ก็อดนึกแปลกใจไม่ได้ว่า เธอคิดอะไรอยู่
อีกอย่างที่เจอตลอดทาง คือการแสดงดนตรี ออกมาในแนว four-man band เลย ส่วนใหญ่จะเป็น rock มีทั้งคุ้นหูบ้าง ไม่คุ้นบ้าง แต่ก็น่าฟังทั้งนั้น คึกคักแบบงาน Tokyo Marathon (อันนั้น จะออกเป็นการตีกลองแบบญี่ปุ่นซล่ะเยอะ) งานนี้ ผมตัดสินใจไม่ใส่หูฟังตั้งแต่ต้น เพราะจากประสบการณ์ Tokyo Marathon มันบอกว่า งานใหญ่ระดับนี้ น่าเก็บบรรยากาศโดยรวมมากว่าอยู่ในโลกส่วนตัว (ตามปกติ ผมจะฟัง podcasts หรือ audiobook ตอนวิ่ง) คิดไม่ผิดจริงๆ น่าสนุกดี มีนักวิ่งจากหลายชาติ และมีนักวิ่งตาบอดมากับ navigator ด้วย น่าทึ่งมาก
ผมวิ่งได้ตามที่ประเมิณตัวเองไว้ได้ดีพอสมควร และด้วยความที่เราซ้อมเมืองไทย อากาศร้อน มาวิ่งในงานเมืองหนาว ทำให้เราทำเวลาได้ไม่เลวนัก แม้จะซ้อมมาไม่เต็มที่ แต่ข้อเสียของการวิ่งเมืองหนาวคือ เมื่อเราดื่มน้ำเยอะ ร่างกายระบายไม่ทัน ทำให้ต้องเข้าห้องนำ้ ผมเข้าไปปัสสาวะครั้งหนึ่ง ตอนครึ่งทางพอดี ทั้งปวดนิดๆและถือโอกาสพัก สะพานในการข้ามแต่ละ borough กินแรงไปพอสมควร แม้ว่า ระยะโดยรวม ทั่วๆไป ถือว่า ค่อนข้างราบ ไม่โหดเท่าไร จุดให้น้ำพร้อมทั้งน้ำเปล่าและเกลือแร่ แต่ถ้าเทียบกับ Tokyo Marathon แล้ว ถือว่า ทาง Tokyo Marathon จัดมาแบบเต็มที่กว่ามากๆ อาหารการกินมีบ้าง ใน station หลังๆ ช่วงครึ่งแรก เท่าที่ผมจำได้ แทบไม่มี
ปัญหาที่ผมเจอ (และเชื่อว่า นักวิ่งหลายๆท่านก็เจอ)คือยังจัดการเรื่องการกินได้ไม่ดี พอผ่านจุด ๓๐ กิโลเมตรไปแล้ว ผมหมดพลังงานไปแล้ว เจ้า Gel ก็ไม่สามารถช่วยได้เท่าไรนัก ท้องว่างมาก การที่เราไม่ได้เตรียมตัวกินในช่วงตั้งแต่เดินทางจนถึงปล่อยตัว ทำให้เรามีพลังงานเหลือไม่พอในช่วงท้ายของการวิ่ง อาการเจ็บเท้าของผมยังไม่สร้างปัญหาเท่ากับหิว พอมาเจอ station ให้อาหารที่เป็นกล้วยหอม ทำเอาผมแทบเห็นสวรรค์ หยุดวิ่ง พักกินไปสองลูก มีคุณป้าพนักงานทำความสะอาดผิวหมึก เอาแขนเท้าสะเอว แล้วถามผมแบบยิ้มๆว่า How long is your lunch break? ผมได้แต่ตอบไปว่า I am really hungry
ช่วงสุดท้ายของการวิ่งที่วิ่งกลับเข้ามายัง Manhattan เป็นช่วงเวลาที่ผมเริ่มหมดสภาพแล้ว รองเท้า Nike Free 5.0 ที่เป็นแบบ minimalist ทำให้ผมรับรู้ถึงความแข็งของพื้นถนนในทุกๆก้าวที่ผมจรดปลายเท้าลงไป มันทำให้ผมอดขยาดกับ minimalist ไม่ได้ในกรณีวิ่งยาวแบบนี้และซ้อมไม่ถึง ถึงแม้ว่า เสียงเชียร์ใน 5th Avenue ในนิวยอร์คจะดังมาก แต่ร่างกายผมมันเริ่มทำงานสวนทางแล้ว ไม่มีอาการตะคริว แต่รู้สึกได้ว่า หมดแรง เมื่อเข้าสู่กิโลสุดท้ายใน Central Park ในใจคิดแต่ว่า เมื่อไรจะจบ ผมแข็งใจไม่ยอมเดินเลยตลอด ๔๒.๑๙๕ กิโลเมตร เพราะเชื่อว่า ตัวเองยังทำได้ และเมื่อเห็นเส้นชัยข้างหน้า ใจก็ยังสั่งให้ไปให้จบจนได้
๔ ชั่วโมง ๔๙ นาที ๒๐ วินาที กับ New York City Marathon 2015 (เวลาทางการ NYRR คือ 04:49:12)
มันเป็นมาราธอนที่สนุกและอยู่ในความทรงจำผมไปอีกนาน แต่มันอดเจ็บใจไม่ได้ว่า ถ้าเราซ้อมถึง เราน่าจะทำได้ดีกว่านี้ อากาศไม่ได้หนาวโหดร้ายเท่า Tokyo Marathon แต่ทางโดยรวม ท้าทายกว่า เพราะมีสะพานและเนินอยู่บ้าง อยากกลับมาแก้มือ
เมื่อเข้าเส้นชัย ขั้นตอนการรับถุงอาหาร เหรียญ และ ผ้าคลุม (poncho) (ในกรณีไม่ฝากของ) ก็เป็นกระบวนการเดินไปเรื่อยๆใน central park ตามแนวที่จัดให้นักวิ่งเท่านั้น เดินไป แต่มันยาวดีจังเลย มันไกลมาก จนผมแปลกใจ แต่ก็อดตกใจกับ aid station ตลอดทางที่จัดไว้ให้กับนักวิ่งไม่ได้ มีคนบาดเจ็บ เป็นตะคริว หรือ ร้องไห้ไม่หยุด เยอะพอสมควรเลย ใครเดินไม่ไหว ก็หยุดกันข้างทางที่กันไว้เป็น aid station
เจ้า poncho ที่แจกมานี่ มันเท่ดีเหมือนกันแฮะ หนาและกันหนาวได้ชะงัดเลย
วันรุ่งขึ้น ผมกลับมาเดินดูจุดขายของที่ระลึกของงาน ณ จุดที่เป็นเส้นชัย ที่ central park โดยเราสามารถนำเหรียญ finisher มาสลักชื่อเราได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่คิวค่อนข้างยาว
นอกจากนี้ ยังมีหนังสือพิมพ์ New York Times ที่ทำฉบับพิเศษ ตีพิมพ์ชื่อ finishers ในฉบับด้วย
แต่เราไม่ต้องซื้อก็ได้ครับ สิ้นเดือนมกราคม (๓ เดือนจากวันวิ่ง) ผมก็ได้รับหนังสือที่ระลึกจากผู้จัด ตีพิมพ์ชื่อทุกท่านที่วิ่งจบเหมือนกัน ทำดีซะด้วย
สรุปว่า งาน New York City Marathon 2015 เป็นงานวิ่งที่ผมประทับใจมาก ไม่น้อยไปกว่า Tokyo Marathon เลย เส้นทางไม่โหด ท้าทายนิดๆ ตรงสะพาน แต่ก็ไม่ยากมาก มามีเรื่องคาใจนิดเดียวคือ เราเตรียมตัวมาไม่พร้อมเอง แต่ไม่เจ็บ มันจะเป็นยังไงนะ อยากแก้มือ
ว่าแล้ว ก็….